ความเหมือนกัน...สำคัญไฉน
เมื่อสองสามวันก่อนขณะที่กำลังไล่อ่านบทความในอินเตอร์เน็ตก็พลันเหลือบไปเห็นข่าวน่าสนใจ จึงกดเข้าไปดูตามหัวข้อข่าวว่า “ม็อบมุสลิมบุกทำเนียบ จี้ รร.วัดหนองจอก ให้นักเรียนหญิงสวมฮิญาบ”
หลังจากไล่อ่านเนื้อหาทั้งหมด พร้อมกับลองค้นหาข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวข้อง ก็พบว่าการใส่ฮิญาบ หรือผ้าคลุมผมของผู้หญิงชาวอิสลามนั้น โดยปกติแล้วโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการสั่งห้ามแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าโรงเรียนที่เป็นต้นเรื่องดันเป็น “โรงเรียนวัด” ก็เลยทำให้เกิดกรณีพิพาทขึ้น และหลังจากผ่านการยื่นหนังสือต่อรองกว่าสองปีโดยกลุ่มผู้ปกครองของเด็กหญิงดังกล่าว ทางโรงเรียนก็ยินยอมให้ใส่ฮิญาบเข้าไปเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ ทว่าก่อนที่จะเปลี่ยนไปหาบทความอื่น ๆ อ่านต่อ ก็พลันเห็นการพูดคุยด้านล่างของหน้าข่าว ที่ใส่กันดุเดือดจนอดเลื่อนลงไปอ่านต่อไม่ได้ทีเดียว
ในพื้นที่ถกเถียงด้านล่าง ความคิดเห็นส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลัก ๆ โดยมุมแดงคือฝ่ายคัดค้านการคลุมผม พวกเขาส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นอยู่ภายในวัด ซึ่งเป็นพุทธศาสนสถานดังนั้นทุกคนก็ควรปฏิบัติตามสิ่งที่ทางวัดหรือโรงเรียนกำหนดมา ว่ากันง่าย ๆ คือตรงนี้เป็นวัดเพราะฉะนั้นก็ต้องให้วัดเป็นคนออกกฏ
ส่วนมุมน้ำเงินนั้นก็คือกลุ่มผู้สนับสนุน พวกเขายกกฏกระทรวงมาเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยมีใจความสำคัญคือกฏระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งอนุญาให้ใส่ฮิญาบได้ตามปกติ และนี่ก็คือเหตุผลเดียวกับที่ใช้ในการต่อสู้จนกลายเป็นข้อชี้ขาดที่ใช้ตัดสินสำหรับกรณีขัดแย้งในครั้งนี้
หลังจากปราดสายตาไปตามเหตุผลของทั้งสองฝ่ายที่ยกขึ้นมาคัดง้างกันแล้ว แม้ว่าบางความคิดเห็นจะดูขาดน้ำหนัก เจือปนด้วยอคติ ไปจนถึงขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือไปบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายพยายามแสดงความคิดเห็น รับฟังและโต้แย้งกัน ด้วยการหาข้อมูลมาถกบนพื้นฐานเหตุและผล เพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดภายใต้ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่จะพัฒนาไปสู่การยอมรับความแตกต่างได้ในท้ายสุด
นอกเหนือไปจากความคิดเห็นดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีอีกส่วนน้อย ๆ ที่ดูจะเป็นส่วนเกินและแทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นเลยท่ามกลางการถกเถียงที่เต็มไปด้วยการใช้เหตุผลและข้อมูลเพื่อหาข้อสรุป ความเห็นที่หลายครั้งมักจะเต็มไปด้วยอารมณ์ดูถูกและอคติเต็มเหยียด ที่ปรากฏผ่านรูปแบบประโยคมากมายแตกต่างกันไปตามบริบท ณ ขณะนั้น แต่ทั้งหมดสรุปออกมาได้ความหมายใกล้เคียงกันว่า “ไม่พอใจก็ออกไปอยู่ที่อื่นไป” หนึ่งในกลวิธีการให้ความคิดเห็นยอดนิยม โดยเฉพาะเวลาที่ผู้พูดนั้นเชื่อว่าตนเองมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจที่อุปโลกน์ขึ้น ในการกำหนดว่าใครควรจะทำอะไรโดยไม่สนใจว่าพวกเขากำลังพูดถึงอะไร
จากการค้นหา ไม่แน่ใจว่าตรรกะหรือเหตุผลเชิงนี้มีต้นกำเนิดมาจากที่ใด หรือใครเป็นคนคิดค้นคนแรก แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้คือข้อสรุปเช่นนี้แทบจะไม่ก่อให้เกิดสาระประโยชน์อันใด เพราะการที่เราปฏิเสธเสียงส่วนน้อยซึ่งหยิบเอาความคิดเห็นที่แตกต่างมานำเสนอ ก็ไม่ต่างอะไรจากการรีบร้อนออกจากบ้านโดยไม่ส่องกระจก ซึ่งแน่นอนว่าผลของมันบางครั้งอาจจะไม่ใช่เบา ๆ อย่างลืมรูดซิปไปทำงาน
ท้ายสุดนี้แม้ว่าวัฒนธรรมการโต้เถียงอาจจะดูรุนแรงหรือแข็งกระด้างในสายตาของหลาย ๆ คน แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธว่าการถกเถียงนั้นตราบใดที่ยังมีพื้นฐานอยู่บนเหตุและผลย่อมเป็นการสร้างลักษณะนิสัยของการตั้งคำถาม ค้นหาข้อมูล เพื่อนำมาคัดง้างบนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะในยุคที่เราเริ่มตีเส้นแบ่งดินแดนทางความเชื่อพร้อมกับผลักผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือแตกต่างจากเราไปอยู่ฝั่งตรงกันข้าม สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการลดขนาดตัวตนของเราลง และเปิดใจเพื่อรับความแตกต่าง
... หรือถ้ายังไม่เชื่อก็ขอให้มองไปรอบ ๆ แล้วจะพบว่า กระทั่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ยังสร้างความหลากหลายให้ทุกชีวิต “เกื้อกูล” กัน แล้วมนุษย์ตัวจ้อยอย่างเราถือดีอะไรมาห้าม “ความแตกต่าง”